ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน ที่กรุงวอชิงตันครั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ได้ประกาศโครงการริเริ่มมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯและอาเซียน เสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และเพื่อขยายขีดความสามารถในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค นับเป็นเปิดศักราชใหม่ระหว่างความร่วมมือของสหรัฐและอาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ รีวิวการ์ตูนอนิเมะ
โดยก่อนหน้านี้ ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อปีก่อน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศแผนมูลค่าไม่เกิน 102 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และเพิ่มความร่วมมือด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม การส่งเสริมการค้าและการศึกษา และอีกมากมายหลายด้าน
ภารกิจพบปะชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกา
สำหรับภารกิจของนายกรัฐมนตรีของไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พบปะชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นวาระแรก ก่อนเริ่มต้นภารกิจในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน ช่วงวันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้
นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวกับชุมชนไทยในสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ถึงความคาดหวังในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษนี้ ว่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ที่เป็นประโยชน์กับไทย การผลักดันยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในไทยที่ครอบคลุม ดึงแรงงานที่มีศักยภาพสูงและดึงนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานผลิตหรือตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งการผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการแก้ปัญหาโลกร้อน จากการที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะอุณหภูมิโลกที่ปรับสูงขึ้นด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องจุดยืนของไทยท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ พลเอก ประยุทธ์ ได้ย้ำว่า จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดโดยไม่สร้างความขัดแย้งกับฝ่ายใด โดยยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีไทยยังได้กล่าวถึงความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่เกิดจากมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้และการฉีดวัคซีนที่ได้ผล
หารือกับบรรดาผู้นำในรัฐสภาและรัฐบาลสหรัฐฯ
หลังจากภารกิจนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยและผู้นำอาเซียน ได้หารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน กับแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ และสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ที่อาคารรัฐสภา และร่วมประชุมกับตัวแทนระดับสูงของสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แคเธอริน ไท และรัฐมนตรีพาณิชย์ จีน่า ไรมอนโด รวมทั้งมีวาระการพบหารือกับตัวแทนภาคธุรกิจของสหรัฐฯ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลอยด์ ออสติน ก่อนจะปิดท้ายในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดทำเนียบขาวเชิญผู้นำประเทศอาเซียนร่วมพบปะ ถ่ายภาพหมู่ และรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน
นอกจากนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ในโอกาสครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน และในฐานะที่ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ร่วมมือใกล้ชิดมายาวนาน โดยมีการหารือในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกด้วย
สำหรับภารกิจประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน สมัยพิเศษในวันสุดท้าย รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จะหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำกลุ่มอาเซียน ในประเด็นความร่วมมือเส้นทางเดินเรือทะเล ด้านสาธารณสุข และการฟื้นฟูจากการระบาดใหญ่ โดยมีรายงานล่าสุดยืนยันว่า จะมีการหารือข้อกังวลด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้กับผู้นำอาเซียนในโอกาสนี้ด้วย
การชุมนุมประท้วงของผู้มีเชื้อสายอาเซียน
ในวันแรกของเวทีประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน มีการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงเชื้อสายกัมพูชาและเมียนมาในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นการเดินขบวนคู่ขนานกับเวทีประชุมอาเซียน ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งออกมาแสดงจุดยืนทางประชาธิปไตย โดยเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันไปยังสถานที่จัดการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และรวมตัวบริเวณสวนสาธารณะลาฟาแยตต์ ด้านนอกทำเนียบขาว ในช่วงที่ผู้นำสหรัฐฯ เปิดทำเนียบต้อนรับผู้นำอาเซียน
ขณะเดียวกัน มีชาวไทยจำนวนหนึ่งราว 100 - 150 คนร่วมชุมนุมและเดินขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์อับราฮัม ลินคอล์น ไปยังสนามหญ้าหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เช่นกัน โดยหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมกล่าวกับวีโอเอ ภาคภาษาไทย ว่า มีการชักชวนกลุ่มชาวกัมพูชา ลาว เมียนมา ไปร่วมกันชุมนุมในวันนี้ และคิดว่าการออกมาแสดงพลังร่วมกับประเทศอื่นในช่วงที่มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนจะช่วยให้ส่งเสียงได้ดังกว่าไทยเพียงประเทศเดียว
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ-อาเซียน วาระพิเศษนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่มีการจัดประชุมสุดยอดกันที่กรุงวอชิงตัน และถือเป็นท่าทีของสหรัฐฯ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมอาเซียน ว่าภูมิภาคนี้ยังมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ท่ามกลางประเด็นสำคัญระหว่างประเทศมากมายที่สหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมา
Comments
Post a Comment